โรคไม่ติดต่อ เรื้อรัง NCDs คืออะไร? เกิดได้อย่างไร?
โรคไม่ติดต่อ คือ โรคที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคจึงติดต่อไม่ได้ด้วยการสัมผัสคลุกคลีหรือติดต่อผ่านตัวนำโรค (Vector) หรือผ่านทางสารคัดหลั่งต่างๆ ซึ่งโรคไม่ติดต่อมีปัจจัยเสี่ยงมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่าง เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ รับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม และขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ซึ่งทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อในที่สุด โดยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง โรคเรื้อรัง จะค่อยๆ มีอาการและอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทีละน้อยเมื่อไม่ได้รับการดูแลรักษา

ตัวอย่างกลุ่มโรค NCDs และอาการเตือนที่ควรระวัง ได้แก่
- โรคเบาหวาน อาการเตือน ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เป็นแผลแล้วหายยาก
- โรคความดันโลหิตสูง อาการเตือน ได้แก่ ปวดศีรษะบ่อย หลังตื่นนอนจะมึนงง ตาพร่ามัว เหนื่อยง่าย ใจสั่น
- โรคหลอดเลือดสมอง อาการเตือน ได้แก่ แขนขาอ่อนแรง ชาที่ปลายมือปลายเท้า ปากเบี้ยว พูดลำบาก
- โรคหัวใจขาดเลือด อาการเตือน ได้แก่ ปวดแน่นบริเวณหน้าอก จุกที่คอหอยหรือลิ้นปี่ หน้ามืด ใจสั่น
- โรคถุงลมโป่งพอง อาการเตือน ได้แก่ ไอเรื้อรัง เป็นหวัดง่ายหายช้า เหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงวี้ด
- โรคมะเร็ง อาการเตือน ได้แก่ เป็นแผลเรื้อรังไม่หาย มีตุ่มก้อนที่โตเร็วผิดปกติ ระบบขับถ่ายมีปัญหา มีเลือดออกมาอย่างผิดปกติ
- โรคอ้วนลงพุง อาการเตือน ได้แก่ ผู้ชายมีรอบเอวเกิน 90 ซม.และผู้หญิงรอบเอวเกิน 80 ซม. เหนื่อยง่าย ข้อเข่ารับน้ำหนักไม่ไหว

การป้องกันและลดความเสี่ยงโรค NCDs
การป้องกันและลดความเสี่ยงโรค NCDs โดยการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่
- งดสูบบุหรี่
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ซื้อยามารับประทานเอง
- ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด หรือไขมันสูง