กรุ๊ปเลือด คืออะไร?
กรุ๊ปเลือดหรือหมู่เลือด (ฺBlood Type) กรุ๊ปเลือดถือเป็นสิ่งจำเป็นในทางการแพทย์เพื่อให้แพทย์ได้ทราบและให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายเลือด (Blood Transfusion)
โดยทั่วไปเลือดของมนุษย์มีส่วนประกอบ ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red Rlood Cells) เซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells) เกล็ดเลือด (Platelets) และน้ำเลือด (Plasma) โดยความแตกต่างของกรุ๊ปเลือด จะดูจาก โมเลกุลของโปรตีนที่พบอยู่ผิวบริเวณด้านนอกของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เรียกว่า แอนติเจน (Antigens) โดยจะทราบได้จากการเจาะตรวจเลือด ซึ่งเอนติเจนในแต่ละคนจะถูกถ่ายทอดกันมาทางพันธุกรรม
ชนิดของกรุ๊ปเลือด
ชนิดของกรุ๊ปเลือดแบ่งออกได้ตามระบบของกรุ๊ปเลือด ซึ่งมีทั้งหมด 2 ระบบใหญ่ ๆ ได้แก่
ระบบเอบีโอ (ABO System) เป็นระบบมีความสำคัญและที่นิยมใช้มากที่สุด ซึ่งแบ่งกรุ๊ปเลือดออกเป็น 4 ชนิด คือ
- กรุ๊ปเลือด A คือกรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนชนิดเอ (A Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และมีสารแอนติบอดีชนิด แอนติ-บี (Anti-B) ในพลาสม่า
- กรุ๊ปเลือด B คือกรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนชนิดบี (B Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และมีสารแอนติบอดีชนิด แอนติ-เอ (Anti-A) ในพลาสม่า
- กรุ๊ปเลือด O คือกรุ๊ปเลือดที่ไม่มีแอนติเจน แต่มีแอนติบอดีทั้งชนิด แอนติ-เอ และ แอนติ-บี ในพลาสม่า
- กรุ๊ปเลือด AB คือกรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนทั้งชนิดเอ และบี แต่ไม่มีแอนติบอดีทั้งชนิดเอและบีในพลาสม่า
ระบบอาร์เอช (Rh System) เป็นระบบที่มีความสำคัญรองลงมา ซึ่งแอนติเจนที่สำคัญของระบบนี้ คือ แอนติเจนชนิด อาร์เอชดี (RhD Antigens) ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
- อาร์เอชบวก (Rh Positive : Rh+) ผู้ที่กรุ๊ปเลือดดังกล่าวจะมีแอนติเจนชนิดอาร์เอช (Rh antigens) และสามารถรับเลือดได้ทั้งชนิดอาร์เอชบวก และ อาร์เอชลบ
- อาร์เอชลบ (Rh Negative : Rh-) ผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดนี้จะไม่มีแอนติเจนชนิดอาร์เอชที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และสามารถรับเลือดได้แค่เพียงชนิดอาร์เอชลบเท่านั้น
ทั้งนี้ระบบเลือดแบบอาร์เอช แบ่งการระบุกรุ๊ปเลือดของผู้ป่วยออกเป็น 8 กรุ๊ปดังนี้
• เอ อาร์เอชบวก (A+)
• เอ อาร์เอชลบ (A-)
• บี อาร์เอชบวก (B+)
• บี อาร์เอชลบ (B-)
• โอ อาร์เอชบวก (O+)
• โอ อาร์เอชลบ (O-)
• เอบี อาร์เอชบวก (AB+)
• เอบี อาร์เอชลบ (AB-)
กรุ๊ปเลือดใดเข้ากันได้บ้าง ?
เนื่องจากความแตกต่างของแอนติเจนในเลือดจึงทำให้ผู้ที่มีความแตกต่างของกรุ๊ปเลือดบางกรุ๊ปไม่สามารถรับเลือดของกรุ๊ปอื่นได้ แต่บางกรุ๊ปก็รับเลือดของกรุ๊ปอื่นได้ เช่น
- กรุ๊ปเลือดเอ อาร์เอชลบ (A- Blood Type) รับเลือดกรุ๊ปเอ อาร์เอชลบ (A-) และ กรุ๊ปเลือด โอ อาร์เอชลบ (O-) ได้
- กรุ๊ปเลือดเอ อาร์เอชบวก (A+ Blood Type) รับเลือดกรุ๊ปเอ อาร์เอชลบ (A-) เอ อาร์เอชบวก (A+) โอ อาร์เอชลบ (O-) และ โอ อาร์เอชบวก (O+) ได้
- กรุ๊ปเลือดบี อาร์เอชลบ (B- Blood Type) รับเลือดกรุ๊ปบี อาร์เอชลบ (B-) และ กรุ๊ปเลือด โอ อาร์เอชลบ (O-) ได้
- กรุ๊ปเลือดบี อาร์เอชบวก (B+ BloodType) รับเลือดกรุ๊ปบี อาร์เอชลบ (B-) บี อาร์เอชบวก (B+) โอ อาร์เอชลบ (O-) และ โอ อาร์เอชบวก (O+) ได้
- กรุ๊ปเลือดเอบี อาร์เอชลบ (AB- Blood Type) รับเลือดกรุ๊ปเอบี อาร์เอชลบ (AB-) และ เอ อาร์เอชลบ (A-) บี อาร์เอชลบ (B-) โอ อาร์เอชลบ (O-) ได้
- กรุ๊ปเลือดเอบี อาร์เอชบวก (AB+ Blood Type) รับเลือดกรุ๊ปเอบี อาร์เอชลบ (AB-) เอบี อาร์เอชบวก (AB+) เอ อาร์เอชลบ (A-) เอ อาร์เอชบวก (A+) บี อาร์เอชลบ (B-) บี อาร์เอชบวก (B+) โอ อาร์เอชลบ (O-) และ โอ อาร์เอชบวก (O+) ได้
- กรุ๊ปเลือด โอ อาร์เอชลบ (O- Blood Type) รับเลือดได้เพียงเลือดกรุ๊ป โอ อาร์เอชลบ (O-) เท่านั้น
- กรุ๊ปเลือด โอ อาร์เอชบวก (O+ Blood Type) รับเลือดกรุ๊ปโอ อาร์เอชลบ (O-) และ โอ อาร์เอชบวก (O+) ได้
ความเป็นไปได้ของกรุ๊ปเลือดลูกในท้อง
หากพ่อและแม่เลือดกรุ๊ปเดียวกัน
- พ่อและแม่เลือดกรุ๊ป A ลูกจะออกมาเป็นเลือดกรุ๊ป A หรือ O
- พ่อและแม่เลือดกรุ๊ป B ลูกจะออกมาเป็นเลือดกรุ๊ป B หรือ O
- พ่อและแม่เลือดกรุ๊ป AB ลูกจะออกมาเป็นเลือดกรุ๊ป A หรือ B หรือ AB
- พ่อและแม่เลือดกรุ๊ป O ลูกจะออกมาเป็นเลือดกรุ๊ป O
หากพ่อและแม่เลือดคนละกรุ๊ป
- พ่อหรือแม่ A กับ O ลูกจะออกมาเป็นเลือดกรุ๊ป A หรือ O
- พ่อหรือแม่ A กับ B ลูกจะออกมาเป็นเลือดกรุ๊ป A หรือ B หรือ O หรือ AB
- พ่อหรือแม่ A กับ AB ลูกจะออกมาเป็นเลือดกรุ๊ป A หรือ B หรือ AB
- พ่อหรือแม่ B กับ O ลูกจะออกมาเป็นเลือดกรุ๊ป B หรือ O
- พ่อหรือแม่ B กับ AB ลูกจะออกมาเป็นเลือดกรุ๊ป A หรือ B หรือ AB
- พ่อหรือแม่ AB กับ O ลูกจะออกมาเป็นเลือดกรุ๊ป A หรือ B